โรคกรดไหลย้อนเรื้อรังมีทางออก







 โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) พบได้ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้ใหญ่ เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกหรืออาการขย้อนจนรบกวนชีวิตประจำวันได้ 

สาเหตุโรคกรดไหลย้อน
ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว

ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ

ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง

อาการโรคกรดไหลย้อน

อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย

มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอและมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จนทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหารขึ้น ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบมีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก

ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร

เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ 

หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ

ในเด็กเล็ก อาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หืดหอบในเวลากลางคืน ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ



การปฏิบัติตัว

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่มาก สามารถรักษาได้โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตดังต่อไปนี้

ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรืออ้วนเกินไป

หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต

หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป

ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง

ปรับหรือหนุนหัวให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด 



จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) หมายถึง โรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการจากการระคายเคืองของกรด เช่น อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร [atypical or extraesophageal GERD]

ประเภทของโรคกรดไหลย้อน

1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หรือ CLASSIC GERD ซึ่งกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น

2.โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal Reflux: LPR) หมายถึงโรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด

ดังนั้นเมื่อท่านมีอาการดังต่อไปนี้ อาจบ่งบอกถึงการมีโรคกรดไหลย้อน ควรมารับการรักษาโดยแพทย์

          1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร

- อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้ (พบน้อย)

- รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ หรือแน่นคอ

- กลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ

- เจ็บคอ แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า

- รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก (bile or acid regurgitation)

- มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา

- เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือคอ

- รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)

- มีน้ำลายมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้

2. อาการทางกล่องเสียง และหลอดลม

- เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม

-ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน

-ไอ หรือ รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน

- กระแอมไอบ่อย

- อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา

- เจ็บหน้าอก (non – cardiac chest pain)

- เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ








ความคิดเห็น